วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ดนตรีไทย(เพิ่มเติม)

ลักษณะการประสานเสียงของดนตรีไทย

ลักษณะการประสานเสียงของดนตรีไทยตามแบบโบราณนั้น ใช้หลัก อาศัยสีเสียง (Tone color) ของเครื่องดนตรีเป็นเครื่องแยกแต่ละแนวทำนอง คือให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นประสานเสียงกันแบบแนวนอน คือให้เสียงลูกตกตรงกัน มากกว่าประสานแบบแนวตั้งที่อาศัยคอร์ด (chord) เป็นพื้นฐานหลักตามแบบสากล
และเสียงของเครื่องดนตรี ที่จะบรรเลงเป็นทำนองนั้น จะต้องมีเสียงสูงต่ำเรียงลำดับกันหลาย ๆ เสียง โดยปกติก็มีอยู่ 7 เสียง เมื่อถึงเสียงที่ 8 ก็ถือว่าเป็นเสียงซ้ำกับเสียงที่ 1(เรียกว่า คู่ 8) และซ้ำต่อ ๆ ไปตามลำดับ แต่ระยะความห่างจา ก เสียงหนึ่งไปอีกเสียงหนึ่งนั้น ดนตรีของแต่ละชาติมักจะนิยมแบ่งระยะไม่เหมือนกัน ส่วนการแบ่งระยะเสียงเรียงลำดับของ ดนตรีไทยนั้น แบ่งความห่างของเสียงเท่า ๆ กันทั้ง 7 เสียงจากเสียงที่ 1 ไปเสียงที่ 2 จากเสียงที่ 2 ไปเสียงที่ 3 จาก3 ไป 4 จาก 4 ไป 5 จาก 5 ไป 6 จาก 6 ไป 7 และ จาก 7 ไป 8 ทุก ๆ ระยะ เท่ากันหมด
ลีลาเป็นแบบเฉพาะตัว หมายถึงท่วงท่าหรือท่วงทำนองที่เครื่องดนตรีต่างๆได้บรรเลงออกมา ในแต่ละเครื่องที่เล่นเป็นเพลงออกมา บ่งบอกถึงคุณลักษณะและพื้นฐานอารมณ์ที่จากตัวผู้เล่น เนื่องมาจากลีลาหนทางของดนตรีไทยนั้นไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์ไว้ตายตัวเหมือนกับดนตรีตะวันตก หากแต่มาจากลีลาซึ่งผู้บรรเลงคิดแต่งออกมาในขณะเล่น เพราะฉะนั้นในการบรรเลงแต่ละครั้งจึงอาจมีทำนองไม่ซ้ำกัน แต่ยังมี ความไพเราะและความสอดคล้องกับเครื่องดนตรีอื่นๆอยู่

ลักษณะเช่นนี้ได้อิทธิพลมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มี"กฎเกณฑ์" อยู่ที่การวาง "กลอน" ลงไปใน "ทำนองหลัก" ในที่นี้ หมายถึงในเพลงไทยเดิมนั้นเริ่มต้นด้วย "เนื้อเพลงแท้ๆ" อันหมายถึง "เสียงลูกตก" ก่อนที่จะปรับปรุงขึ้นเป็น "ทำนองหลัก" หรือที่เรียกว่า "เนื้อฆ้อง" อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในชั้นเนื้อฆ้องนี้ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นทำนองห่างๆ ยังไม่มีความซับซ้อนมาก แต่ยังกำหนดลักษณะในการเล่นไว้ให้ผู้บรรเลงแต่ละคนได้บรรเลงด้วยลีลาเฉพาะของตนในกรอบนั้นๆ โดยลีลาที่กล่าวมาก็หมายถึง "กลอน" หรือ "หนทาง" ต่างๆที่บรรเลงไปนั่นเอง
เพลงดนตรีของไทยนั้น มีทำนองต่าง ๆ เพลงบางชนิดก็มีทำนองพื้น ๆ เรียบ ๆ ไม่มีพลิกแพลงอย่างใด เรียกว่า "เพลงพื้น " บางชนิดก็เดินทำนองเป็นเสียงยาว ๆ เพลงชนิด นี้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีก็จะต้องตีกรอทำให้เสียงยาวจึงเรียกว่า " เพลงกรอ" และเพลงบางชนิดก็มีทำนองพลิกแพลงโลดโผน มีแบ่งเครื่องดนตรีเป็นพวก ผลัดกันหยุด ผลัดกันบรรเลง ก็เรียกว่า " เพลงลูกล้อลูกขัด" ถ้าจะแบ่งตามลักษณะของเพลง

การบรรเลงดนตรีไทยนั้น ผู้บรรเลงต้องจำทำนองเนื้อเพลงได้อย่างแม่นยำอย่างหนึ่ง รู้วิธีบรรเลงและหน้าที่ของ เครื่องดนตรีที่ตนบรรเลง เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้มว่ามีอย่างไร และมีสติปัญญาแต่งทำนองให้เกิดความไพเราะอีกอย่างหนึ่งเพราะการ บรรเลงดนตรีไทยไม่ได้ดูโน๊ต จึงต้องใช้ความจำ ในขณะที่บรรเลง ผู้บรรเลงจะต้องแต่งทำนองด้วยปัญญาของตน ให้ดำเนินไปตาม วิธีการบรรเลงเครื่องดนตรีที่ตนบรรเลง เช่น ระนาดเอก ก็ต้องเก็บถี่ ๆ ตีเป็นคู่ 8 พร้อม ๆ กันทั้งสองมือ และต้องไม่ให้ผิด ไปจากเนื้อเพลงของเพลงนั้นด้วย


การผสมวง

ผสมวงคือ การเอาเครื่องดนตรีหลาย ๆ อย่างมาบรรเลงรวมกัน แต่การที่จะนำเอาเครื่องดนตรีคนละอย่างมาบรรเลงพร้อม ๆ กันนี้ จะต้องพิจารณาเลือกแต่สิ่งที่มีเสียงกลมกลืนกันและไม่ดังกลบเสียงกัน สมัยโบราณนั้นเครื่องดีดก็จะผสมแต่ กับเครื่องสี เพราะมีเสียงที่ค่อนข้างเบาด้วยกัน และเครื่องตีก็จะผสมแต่เฉพาะกับเครื่องเป่าเท่านั้น เพราะมีเสียงค่อน ข้าง ดังมากด้วยกันภายหลังเมื่อรู้จักวิธีสร้างหรือแก้ไขเครื่องตีและเครื่องเป่าให้ลดความดังลงได้พอเสมอกับเครื่อง ดีดเครื่องสี จึงได้นำเครื่องตีและเครื่องเป่าเหล่านั้นบางอย่างเข้าผสมเฉพาะแต่ที่ต้องการและจำเป็นและเลือกดูว่า เครื่องดนตรีอย่างไหนทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ได้หลายเสียง ก็ให้บรรเลงเป็นทำนองอย่างไหนทำเสียงสูงต่ำหลาย ๆ เสียงไม่ได้ ก็ให้ เป็นพวกบรรเลงประกอบจังหวะ

วงดนตรีไทย
ดนตรีไทยมักเล่นเป็นวงดนตรี มีการแบ่งตามประเภทของการบรรเลงที่เป็นระเบียบมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันเป็น 3 ประเภท คือ
วงปี่พาทย์
ประกอบด้วยเครื่องตีเป็นสำคัญ เช่น ฆ้อง กลอง และมีเครื่องเป่าเป็นประธานได้แก่ ปี่ นอกจากนั้นเป็นเครื่อง วงปี่พาทย์ยังแบ่งไปได้อีกคือ วงปี่พาทย์ชาตรี,วงปี่พาทย์ไม้แข็ง,วงปี่พาทย์เครื่องห้า,วงปี่พาทย์เครื่องคู่,วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่,วงปี่พาทย์ไม้นวม,วงปี่พาทย์มอญ,วงปี่พาทย์นางหงส์

วงเครื่องสาย
เครื่องสาย ได้แก่ เครื่องดนตรี ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่มีสายเป็นประธาน มีเครื่องเป่า และเครื่องตี เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ เป็นต้น ปัจจุบันวงเครื่องสายมี 4 แบบ คือ วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว,วงเครื่องสายเครื่องคู่,วงเครื่องสายผสม,วงเครื่องสายปี่ชวา

วงมโหรี
ในสมัยโบราณเป็นคำเรียกการบรรเลงโดยทั่วไป เช่น "มโหรีเครื่องสาย" "มโหรีปี่พาทย์" ในปัจจุบัน มโหรี ใช้เป็นชื่อเรียกเฉพาะวงบรรเลงอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีเครื่อง ดีด สี ตี เป่า มาบรรเลงรวมกันหมด ฉะนั้นวงมโหรีก็คือวงเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ ผสมกัน วงมโหรีแบ่งเป็น วงมโหรีเครื่องสี่,วงมโหรีเครื่องหก,วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ มโหรีเครื่องเล็ก,วงมโหรีเครื่องคู่

เครื่องดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทยแบ่งตามลักษณะการทำให้เกิดเสียงได้เป็น 4 ประเภท คือ ดีด สี ตี เป่า

เครื่องดีด
  1. จะเข้
  2. กระจับปี่
  3. เต้า
  4. พิณ
  5. ซึง
  6. ไทยหัว
  7. กวาง
เครื่องสี
  1. ซอด้วง
  2. ซอสามสาย
  3. ซออู้
  4. สะล้อ

ครื่องตี
  • กรับ ได้แก่ กรับพวง และ กรับเสภา
  • ระนาด ได้แก่ ระนาดเอก,ระนาดทุ้ม,ระนาดเอกมโหรี,ระนาดทุ้มมโหรี,ระนาดเอกเหล็ก,ระนาดทุ้มเหล็ก
  • ฆ้อง ได้แก่ ฆ้องมโหรี,ฆ้องมอญ,ฆ้องวงใหญ่ ,ฆ้องวงเล็ก,ฆ้องโหม่ง,ฆ้องกระแต,ฆ้องระเบ็ง
  • ขิม
  • ฉาบ
  • ฉิ่ง
  • กลอง ได้แก่ กลองแขก,กลองมลายู,ตะโพน,ตะโพนมอญ,กลองทัด,กลองตุ๊ก,กลองยาว,มโหระทึก,บัณเฑาะว์,โทน,รำมะนา,โทนชาตรี,กลองสองหน้า,เปิงมางคอก

เครื่องเป่า
  • ขลุ่ย ได้แก่ ขลุ่ยหลิบ,ขลุ่ยเพียงออ,ขลุ่ยอู้
  • ปี่ ได้แก่ ปี่ใน,ปี่นอก,ปี่ไฉน,ปี่ชวา,ปี่มอญ

เพลงดนตรีไทย
แบ่งได้เป็น 4 แบบคือ

เพลงหน้าพาทย์ ได้แก่ เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งของมนุษย์ ของสัตว์ ของวัตถุต่าง ๆ และอื่น ๆ

เพลงรับร้อง ที่เรียกว่าเพลงรับร้องก็ด้วยบรรเลงรับจากการร้อง คือ เมื่อคนร้องได้ร้องจบไปแล้วแต่ละท่อน ดนตรีก็ต้องบรรเลงรับในท่อนนั้น ๆ โดยมากมักเป็นเพลงอัตรา 3 ชั้นและเพลงเถา เช่น เพลงจระเข้หางยาว 3 ชั้น เพลงสี่บท 3 ชั้น และเพลงบุหลันเถา เป็นต้น

เพลงละคร หมายถึงเพลงที่บรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร และมหรสพต่าง ๆ ซึ่งหมายเฉพาะเพลงที่มีรัองและดนตรีรับเท่า นั้น เพลงละครได้แก่เพลงอัตรา 2 ชั้น เช่น เพลงเวสสุกรรม เพลงพญาโศก หรือชั้นเดียว เช่น เพลงนาคราช เพลงตะลุ่มโปง เป็นต้น
๔เพลงเบ็ดเตล็ด ได้แก่ เพลงเล็ก ๆ สั้น ๆ สำหรับใช้บรรเลงเป็นพิเศษ เช่น บรรเลงต่อท้ายเพลงใหญ่เป็นเพลงลูกบท หรือเพลงภาษา ต่าง ๆ ซึ่งบรรเลงเพื่อสนุกสนาน

การฟังเพลงไทย
วงดนตรีแต่ละอย่าง ย่อมมีวิธีบรรเลงและเสียงของเครื่องดนตรีต่างกัน จึงต้องรู้จักวงดนตรีที่ฟังนั้นเสียก่อน วงปี่พาทย์ที่ตีด้วยไม้แข็ง ก็ย่อมมีเสียงแกร่งกร้าว มักบรรเลงค่อนข้างเร็ว และโลดโผน วงปี่พาทย์ไม้นวม การบรรเลง ก็จะต้องค่อนข้างช้า ไพเราะในทางนุ่มนวล วงมโหรีจะต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนวงเครื่องสาย อาจมีได้ทั้งรุกเร้า รวดเร็ว และไพเราะนุ่มนวล เมื่อรู้เช่นนี้ ขณะฟังวงอะไรบรรเลงก็ฟังโดยทำใจให้เป็นไปตามลักษณะของวงชนิดนั้น

การฟังเพลง สิ่งสำคัญก็อยู่ที่ทำนอง เครื่องดนตรีที่บรรเลงทุก ๆ อย่างย่อมมีทำนองของตัวจะต้องฟังดูว่าเครื่อง ดนตรีทุก ๆ อย่างนั้น ดำเนินทำนองสอดคล้องกลมเกลียวกันดีหรือไม่ และต่างทำถูกตามหน้าที่ หรือไม่ เช่น ซออู้ทำหน้า ที่ หยอกล้อยั่วเย้าหรือเปล่า หรือฆ้องวงเล็ก ตีสอดแทรกทางเสียงสูงดีหรือไม่ เป็นต้น เมื่อสังเกตการบรรเลงอย่างนั้นแล้วจึง ทำอารมณ์ให้เป็นไปตามอารมณ์ของเพลง เพราะทำนองเพลงย่อมแสดงอารมณ์โศกรัก รื่นเริง หรือขับกล่อมให้เพลิดเพลิน เพลงอารมณ์โศก และรักมักจะมีจังหวะช้า ๆ และเสียงยาว เพลงรื่นเริง มักจะมีจังหวะค่อนข้างเร็ว และเสียงสั้น ส่วนเพลงขับกล่อม ก็มั ก จะเป็นพื้น ๆ เรียบ ๆ สม่ำเสมอ ทั้งนี้จะต้องสังเกตด้วยเสียงของทำนองที่มาสู่อารมณ์เราด้วย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อฟัง เพลงในอารมณ์ใด ก็ตั้งใจฟังไปในอารมณ์นั้น ก็จะได้รสไพเราจากการฟังได้อย่างแท้จริง

การบรรเลงดนตรีไทยในวาระต่างๆ

การที่จะมี่ดนตรีบรรเลงประกอบในงาน ที่จะจัดให้มีขึ้นนั้น ก็ควรจะยึดถือแบบแผนที่สมัยโบราณได้เคย ใช้กันมาจนเป็นประเพณีไปแล้ว คือ
งานที่มีพระสงฆ์สวดมนต์และฉันอาหาร ควรใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ก็แล้วแต่เห็นสมควร
งานแต่งงาน หรือที่เรียกกันว่างานมงคลสมรส ควรใช้วงมโหรีหรือวงเครื่องสาย
งานศพ ถ้าจะใช้ดนตรีไทย ควรใช้วงปี่พาทย์นางหงส์
งานพิเศษที่จัดขึ้นเฉพาะครั้งคราว เช่น ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ประกอบกิจการสามารถใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม หรือ มโหรี หรือเครื่องสาย ก็ได้ แล้วแต่ความพึงพอใจ

อ้างอิง :
สารานุกรมไทย วิกิพิเดีย
สารานุไทยสำหรับเยาวชน เล่ม๑
วัฒนธรรมและประเพณีไทย บ้านจอมยุทธ
บอร์ดยิ้มสยาม หัวข้อ ประวัติดนตรีไทย(หมวดสาระ)
ประวัติดนตรีไทยโรงเรียนคูซอดประชาสรรค์

ดนตรีสากล

ดนตรีสากล
หรือดนตรีตะวันตกมีพื้นฐานจากความมุ่งหวังไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า จากหลักปรัชญากรีกโบราณในราวช่วงปี 800 ก่อนคริสตกาล ที่เน้นความสำคัญของการสร้างร่างกายให้แข็งแรงด้วยการเล่นกีฬา และงดงามของจิตใจด้วยศิลปะ บทกวี ดนตรี การละคร และระบำรำฟ้อน เพื่อสร้างสรรค์ให้มนุษย์สมบูรณ์

ปี 585-479 ก่อนคริสตกาล ชาวกรีกชื่อ ปิธากอรัส คิดค้นทฤษฎีการเกิดเสียงขึ้นจากการคำนวณรอบการสั่นสะเทือนของสายเสียง ได้ข้อสรุปว่า "ถ้าสายสั้นกว่าจะได้เสียงที่สูงกว่า ถ้าสายยาวกว่าจะได้เสียงที่ต่ำกว่า" วิชาความรู้และแนวคิดนี้กระจายแพร่หลาย ชื่อเสียงปิธากอรัสเลื่องลือทั่วยุโรป

ดนตรีสากล เป็นมารดกทางวัฒนธรรมของชาวตะวันตก เริ่มจากการที่ชาวยุโรปมีการบันทึกทำนองเพลงที่เป็นแบบแผนเดียวกันโดยใช้สัญลักษณะที่เรียกว่า โน้ตสากล และใช้กับเครื่องดนตรีสากลที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง


ความเป็นมาของดนตรีสากล
ในสมัยโบราณ มนุษย์รู้จัก เคาะ ตี และนำสิ่งต่าง ๆ มาเป่าทำให้เกิดเสียง เช่น เป่าเขาสัตว์ ตีเกราะเคาะไม้ ต่อมามี การนำเครื่องเคาะจังหวะหรือเครื่งอดนตรีมาบรรเลงประกอบพิธีกรรมที่มนุษย์จัดขึ้น ตามหลักฐานพบว่า ศาสนาคริสต์เป็นจุดเริ่มแรกของ การกำเนิดดนตรีสากล และเป็นที่นิยมทั่วโลกในเวลาต่อมา

ดนตรีสากล เริ่มใช้ครั้งแรกในพิธีทางศาสนาโดยเริ่มจากการใช้คำพูดธรรมดาในการประกอบพิธี ต่อมาได้ประดิษฐ์คำพูดให้มีระดับเสียงต่าง ๆ ทำให้ชวนฟังยิ่งขึ้นจนกลายเป็นทำนองเพลงขึ้น จากนั้นเริ่มมีการนำดนตรีลักษณะดังกล่าวไปเล่นในที่สาธารณะ โดยมีเนื้อร้องกล่าวถึงความรัก ความกล้าหาญ การรบ และนิทาน นอกจากนี้บรรดาราชวงศ์ ขุนนาง หรือผู้มีฐานะดี มักมีวงดนตรีเอาไว้ประดับบารมี ต่อมาดนตรีสากลได้รับความนิยมแพร่หลาย มีการจัดการแสดงดนตรีและมีการนำดนตรีมาใช้ในธุรกิจการค้ามากขึ้น

ดนตรีสากลเป็นดนตรีประเภทหนึ่งที่ชาวตะวันตกได้นำมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก จึงทำให้ชนหลายชาติหลายภาษาสามารถเล่นดนตรีสากลได้

เครื่องดนตรีสากลที่ใช้กันในชนชาติต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ชนิดเดียวกัน มีการบันทึกทำนองเพลงโดยใช้สัญลักษณ์เดียวกัน ซึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้บันทึกทำนองเพลงเรียกว่า โน้ตสากล

โน้ตสากลใช้เพื่อบันทึกทำนองเพลงเพื่อกันลืมและเป็นการกำนดทำนองเพลงว่าจะใช้เสียงสั้นยาวเพียงใด หรือเน้นเสียงหนักเบาตรงช่วงใดนอกจากนี้โน้ตสากลยังมีความหมายอื่น ๆ อีกมากมาย

รูปแบบของดนตรีสากลในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะแตกต่างกันออกไป ดนตรีสากลได้พัฒนาทั้งรูปแบบของเพลงและเครื่องดนตรีมาสู่ยุคปัจจุบันจนเป็นที่นิยม

อ้างอิง :
http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-12-2627.html
http://knowledge.eduzones.com
โรงเรียนลำปางกัลยาณี



ดนตรีไทย

ดนตรีไทย หมายถึง เสียงที่ประกอบกันเป็นทำนองเพลง เครื่อง บรรเลง ซึ่งมีเสียงดังทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน สื่ออารมณ์รัก โศกเศร้า และรื่นเริง เป็นต้น


ดนตรี มีรากศัพท์จากภาษาบาลีว่า ตนฺติ ภาษาสันสกฤตว่า ตนฺตริน เมื่อแผลงมาเป็นคำว่าดนตรีในภาษาไทย


ดนตรีไทย เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทย ได้รับอิทธิพลมาจาก ประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และอื่น ๆ บางตำราก็ว่าเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทย ก่อนที่คนไทยจะรับวัฒนธรรมแบบอินเดีย ได้แก่ เกราะ โกร่ง กรับ ฉาบ ฉิ่ง ปี่ ขลุ่ย เพี้ย ซอ ฆ้อง และกลอง เป็นต้น ในเวลาต่อมาคนไทยพัฒนาเครื่องดนตรีทำด้วยไม้ เช่น กรับ พร้อมทั้งการคิดฆ้องวงใช้ในการเล่นดนตรีเมื่อคนไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแหลมสุวรรณภูมิ จึงได้ รับอิทธิพลของอินเดียผสมกับมอญและเขมร จึงทำให้เครื่องดนตรีไทยเพิ่มจากเดิม อาทิ พิณ สังข์ ปี่ไฉน บัณเฑาะว์ กระจับ ปี่ จะเข้ โทน และทับ


ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย

นับตั้งแต่ไทยได้มาตั้งถิ่นฐานในแหลมอินโดจีน และได้ก่อตั้งอาณาจักรไทยขึ้น จึงเป็นการเริ่มต้น ยุคแห่งประวัติศาสตร์ไทย ที่ปรากฎ หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ เมื่อไทยได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และหลังจากที่ พ่อขุนรามคำแหง มหาราช ได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว นับตั้งแต่นั้นมาจึงปรากฎหลักฐานด้าน ดนตรีไทย ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งในหลักศิลาจารึก หนังสือวรรณคดี และเอกสารทางประวัติศาสตร์ ในแต่ละยุค ซึ่งสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการพิจารณา ถึงความเจริญและวิวัฒนาการของ ดนตรีไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นต้นมา จนกระทั่งเป็นแบบแผนดังปรากฎ ในปัจจุบัน

สมัยสุโขทัย
ดนตรีไทย มีลักษณะเป็นการขับลำนำ และร้องเล่นกันอย่างพื้นเมือง เกี่ยวกับ เครื่องดนตรีไทย ในสมัยนี้ ปรากฎหลักฐานกล่าวถึงไว้ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นหนังสือวรรณคดี ที่แต่งในสมัยนี้ ได้แก่ แตร, สังข์, มโหระทึก, ฆ้อง, กลอง, ฉิ่ง, แฉ่ง (ฉาบ), บัณเฑาะว์ พิณ, ซอพุงตอ (สันนิษฐานว่าคือ ซอสามสาย) ปี่ไฉน, ระฆัง, และ กังสดาล เป็นต้น ลักษณะการผสม วงดนตรี ก็ปรากฎหลักฐานทั้งในศิลาจารึก และหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึง "เสียงพาทย์ เสียงพิณ" ซึ่งจากหลักฐานที่กล่าวนี้ สันนิษฐานว่า วงดนตรีไทย ในสมัยสุโขทัย มีดังนี้ คือ

1. วงบรรเลงพิณ มีผู้บรรเลง 1 คน ทำหน้าที่ดีดพิณและขับร้องไปด้วย เป็นลักษณะของการขับลำนำ
2. วงขับไม้ ประกอบด้วยผู้บรรเลง 3 คน คือ คนขับลำนำ 1 คน คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง 1 คน และ คนไกว บัณเฑาะว์ ให้จังหวะ 1 คน
3. วงปี่พาทย์ เป็นลักษณะของวงปี่พาทย์เครื่อง 5 มี 2 ชนิด คือ
วงปี่พาทย์เครื่องห้า อย่างเบา ประกอบด้วยเครื่องดนตรีชนิดเล็ก ๆ จำนวน 5 ชิ้น คือ 1. ปี่ 2. กลองชาตรี 3. ทับ (โทน) 4. ฆ้องคู่ และ 5. ฉิ่ง ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ละครชาตรี (เป็นละครเก่าแก่ที่สุดของไทย)
วงปี่พาทย์เครื่องห้า อย่างหนัก ประกอบด้วย เครื่องดนตรีจำนวน 5 ชิ้น คือ 1. ปี่ใน 2. ฆ้องวง (ใหญ่) 3. ตะโพน 4. กลองทัด และ 5. ฉิ่ง ใช้บรรเลงประโคมในงานพิธีและบรรเลงประกอบ การแสดงมหรสพ ต่าง ๆ จะเห็นว่า วงปี่พาทย์เครื่องห้า ในสมัยนี้ยังไม่มีระนาดเอก
4. วงมโหรี เป็นลักษณะของวงดนตรีอีกแบบหนึ่ง ที่นำเอา วงบรรเลงพิณ กับ วงขับไม้ มาผสมกัน เป็นลักษณะของ วงมโหรีเครื่องสี่ เพราะประกอบด้วยผู้บรรเลง 4 คน คือ 1. คนขับลำนำและตี กรับพวง ให้จังหวะ 2. คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง 3. คนดีดพิณ และ 4. คนตีทับ (โทน) ควบคุมจังหวะ

สมัยกรุงศรีอยุธยา
มีวงปี่พาทย์ที่ยังคงรูปแบบปี่พาทย์เครื่องห้าเหมือนเช่นสมัยกรุงสุโขทัย แต่เพิ่มระนาดเอกเข้าไป นับแต่นั้นวงปี่พาทย์จึงประกอบด้วย
1.ระนาดเอก
2.ปี่ใน
3.ฆ้องวง (ใหญ่)
4.กลองทัด ตะโพน
5.ฉิ่ง

ส่วนวงมโหรี ในสมัยนี้พัฒนามาจาก วงมโหรีเครื่องสี่ ในสมัยสุโขทัยเป็น วงมโหรีเครื่องหก เพราะได้เพิ่ม เครื่องดนตรี เข้าไปอีก 2 ชิ้น คือ ขลุ่ย และ รำมะนา ทำให้ วงมโหรี ในสมัยนี้ ประกอบด้วย เครื่องดนตรี จำนวน 6 ชิ้น คือ
1.ซอสามสาย
2.กระจับปี่ (แทนพิณ)
3.ทับ (โทน)
4.รำมะนา
5.ขลุ่ย
6.กรับพวง
ปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับ ดนตรีไทย ในสมัยนี้ ในกฏมลเฑียรบาล ซึ่งระบุชื่อ เครื่องดนตรีไทย เพิ่มขึ้น จากที่เคยระบุไว้ ในหลักฐานสมัยสุโขทัย จึงน่าจะเป็น เครื่องดนตรี ที่เพิ่งเกิดในสมัยนี้ ได้แก่ กระจับปี่ ขลุ่ย จะเข้ และ รำมะนา นอกจากนี้ในกฎมณเฑียรบาลสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) ปรากฎข้อห้ามตอนหนึ่งว่า "...ห้ามร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี่ ดีดจะเข้ ตีโทนทับ ในเขตพระราชฐาน..." ซึ่งแสดงว่าสมัยนี้ ดนตรีไทย เป็นที่นิยมกันมาก แม้ในเขตพระราชฐาน ก็มีคนไปร้องเพลงและเล่นดนตรีกันเป็นที่เอิกเกริกและเกินพอดี จนกระทั่งพระมหากษัตริย์ต้องทรงออกกฎมลเฑียรบาล ดังกล่าวขึ้นไว้

สมัยกรุงธนบุรี
เนื่องจากในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่ 15 ปี และประกอบกับ เป็นสมัยแห่งการก่อร่างสร้างเมือง และการป้องกันประเทศเสียโดยมาก วงดนตรีไทย ในสมัยนี้จึงไม่ปรากฎหลักฐานไว้ว่า ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้น สันนิษฐานว่า ยังคงเป็นลักษณะและรูปแบบของ ดนตรีไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อบ้านเมืองได้ผ่านพ้นจากภาวะศึกสงคราม และได้มีการก่อสร้างเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น เกิดความ สงบร่มเย็น โดยทั่วไปแล้ว ศิลป วัฒนธรรม ของชาติ ก็ได้รับการฟื้นฟูทะนุบำรุง และส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะ ทางด้าน ดนตรีไทย ในสมัยนี้ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเจริญขึ้นเป็นลำดับ

สมัยรัชกาลที่ 1 ดนตรีไทย ส่วนใหญ่ ยังคงมีลักษณะ และ รูปแบบตามที่มีมาตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พัฒนาขึ้นบ้างในสมัยนี้ก็คือ การเพิ่ม กลองทัด ขึ้นอีก 1 ลูก ใน วงปี่พาทย์ ซึ่ง แต่เดิมมา มีแค่ 1 ลูก รวม มี กลองทัด 2 ลูก มีเสียงสูง (ตัวผู้) ลูกหนึ่ง และ เสียงต่ำ (ตัวเมีย) ลูกหนึ่ง และการใช้ กลองทัด 2 ลูก ในวงปี่พาทย์นี้ ก็เป็นที่นิยมกันมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้

สมัยรัชกาลที่ 2 อาจกล่าวว่าในสมัยนี้ เป็นยุคทองของ ดนตรีไทย ยุคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ องค์พระมหากษัตริย์ ทรงสนพระทัย ดนตรีไทย เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ ในทาง ดนตรีไทย ถึงขนาดที่ ทรงดนตรีไทย คือ ซอสามสาย ได้ มีซอคู่พระหัตถ์ชื่อว่า "ซอสายฟ้าฟาด" ทั้งพระองค์ได้ พระราชนิพนธ์ เพลงไทย ขึ้นเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่ไพเราะ และอมตะ มาจนบัดนี้นั่นก็คือเพลง "บุหลันลอยเลื่อน"
การพัฒนา เปลี่ยนแปลงของ ดนตรีไทย ในสมัยนี้ก็คือ ได้มีการนำเอา วงปี่พาทย์มาบรรเลง ประกอบการขับเสภา เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังมีกลองชนิดหนึ่งเกิดขึ้น โดยดัดแปลงจาก "เปิงมาง" ของมอญ ต่อมาเรียกกลองชนิดนี้ว่า "สองหน้า" ใช้ตีกำกับจังหวะแทนเสียงตะโพนในวงปี่พาทย์ ประกอบการขับเสภา เนื่องจากเห็นว่าตะโพนดังเกินไป จนกระทั่งกลบเสียงขับ กลองสองหน้านี้ ปัจจุบันนิยมใช้ตีกำกับจังหวะหน้าทับ ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง

สมัยรัชกาลที่ 3 วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้ม มาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับ ฆ้องวงใหญ่

สมัยรัชกาลที่ 4 วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ เครื่องดนตรี เพิ่มขึ้นอีก 2 ชนิด เลียนแบบ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม โดยใช้โลหะทำลูกระนาด และทำรางระนาดให้แตกต่างไปจากรางระนาดเอก และระนาดทุ้ม (ไม้) เรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก นำมาบรรเลงเพิ่มในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ทำให้ ขนาดของ วงปี่พาทย์ขยายใหญ่ขึ้นจึงเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ อนึ่งในสมัยนี้ วงการดนตรีไทย นิยมการร้องเพลงส่งให้ดนตรีรับ หรือที่เรียกว่า "การร้องส่ง" กันมากจนกระทั่ง การขับเสภาซึ่งเคยนิยมกันมาก่อนค่อย ๆ หายไป และการร้องส่งก็เป็นแนวทางให้มีผู้คิดแต่งขยายเพลง 2 ชั้นของเดิมให้เป็นเพลง 3 ชั้น และตัดลง เป็นชั้นเดียว จนกระทั่งกลายเป็นเพลงเถาในที่สุด (นับว่าเพลงเถาเกิดขึ้นมากมายในสมัยนี้) นอกจากนี้ วงเครื่องสาย ก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน

สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นใหม่ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า "วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์" โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดง "ละครดึกดำบรรพ์" ซึ่งเป็น ละครที่เพิ่งปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน หลักการปรับปรุงของท่านก็โดยการตัดเครื่องดนตรีชนิดเสียงเล็กแหลม หรือดังเกินไปออก คงไว้แต่เครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้ม นุ่มนวล กับเพิ่มเครื่องดนตรีบางอย่างเข้ามาใหม่ เครื่องดนตรี ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จึงประกอบด้วยระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ขลุ่ย ซออู้ ฆ้องหุ่ย (ฆ้อง 7 ใบ) ตะโพน กลองตะโพน และเครื่องกำกับจังหวะ

สมัยรัชกาลที่ 6 ได้การปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง โดยนำวงดนตรีของมอญมาผสมกับ วงปี่พาทย์ของไทย ต่อมาเรียกวงดนตรีผสมนี้ว่า "วงปี่พาทย์มอญ" โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)เป็นผู้ปรับปรุงขึ้น วงปี่พาทย์มอญดังกล่าวนี้ ก็มีทั้งวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ เช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ของไทย และกลายเป็นที่นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ มาจนกระทั่งบัดนี้ นอกจากนี้ยังได้มี การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติ เข้ามาบรรเลงผสมกับ วงดนตรีไทย บางชนิดก็นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องดนตรีของไทย ทำให้รูปแบบของ วงดนตรีไทย เปลี่ยนแปลงพัฒนา ดังนี้ คือ

การนำเครื่องดนตรีของชวา หรืออินโดนีเซีย คือ "อังกะลุง" มาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งนี้โดยนำมาดัดแปลง ปรับปรุงขึ้นใหม่ให้มีเสียงครบ 7 เสียง (เดิมมี 5 เสียง) ปรับปรุงวิธีการเล่น โดยถือเขย่าคนละ 2 เสียง ทำให้เครื่องดนตรีชนิดนี้ กลายเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนไทยสามารถทำอังกะลุงได้เอง อีกทั้งวิธีการบรรเลงก็เป็นแบบเฉพาะของเรา แตกต่างไปจากของชวาโดยสิ้นเชิง การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมในวงเครื่องสาย ได้แก่ ขิมของจีน และออร์แกนของฝรั่ง ทำให้วงเครื่องสายพัฒนารูปแบบของวงไปอีกลักษณะหนึ่ง คือ "วงเครื่องสายผสม"

จากสมัยสุโขทัยสืบต่อมาสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ดนตรีไทยจัดเป็นดนตรีที่มีแบบแผนหรือดนตรีคลาสสิก (Classic Music) เครื่องดนตรีไทยนั้นกรมศิลปากร จำแนกไว้รวมทั้งสิ้น 56 ชนิด ประกอบด้วยเครื่องตี เครื่องเป่า เครื่องดีด และเครื่องสี เครื่องดนตรีไทยที่นิยมใช้กันมาก ดังนี้
- เครื่องดีด ได้แก่ พิณน้ำเต้า พิณ เพ้ย กระจับปี่ ซึง จะเข้
- เครื่องสี ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ ซอสามสาย ซอล้อ
- เครื่องตีประเภทไม้ ได้แก่ เกราะ โกร่ง กรับ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ ได้แก่ ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ฆ้อง หุ่ย และเครื่องตีที่ทำด้วยหนัง ได้แก่ กลองทุกประเภท
- เครื่องเป่า ได้แก่ ขลุ่ย ปี่ แคน แตร สังข์ เป็นต้น


หรืออีกสันนิษฐานของเหล่าท่านผู้รู้ทางด้าน ดนตรีไทย โดยการพิจารณา หาเหตุผลเกี่ยวกับกำเนิด หรือที่มาของ ดนตรีไทย ก็ได้มีผู้เสนอแนวทัศนะในเรื่องนี้ไว้ 2 ทัศนะที่แตกต่างกันคือ

ทัศนะที่ 1 สันนิษฐานว่า ดนตรีไทย ได้แบบอย่างมาจากอินเดีย เนื่องจาก อินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อารยธรรมต่าง ๆ ของอินเดียได้เข้ามามีอิทธิพล ต่อประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียอย่างมาก ทั้งในด้าน ศาสนา ประเพณีความเชื่อ ตลอดจน ศิลป แขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านดนตรี ปรากฎรูปร่างลักษณะ เครื่องดนตรี ของประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย เช่น จีน เขมร พม่า อินโดนิเซีย และ มาเลเซีย มีลักษณะ คล้ายคลึงกัน เป็นส่วนมาก ทั้งนี้เนื่องมาจาก ประเทศเหล่านั้นต่างก็ยึดแบบฉบับ ดนตรี ของอินเดีย เป็นบรรทัดฐาน รวมทั้งไทยเราด้วย เหตุผลสำคัญที่ท่านผู้รู้ได้เสนอทัศนะนี้ก็คือ ลักษณะของ เครื่องดนตรีไทย สามารถจำแนกเป็น 4 ประเภท คือ
  1. เครื่องดีด
  2. เครื่องสี
  3. เครื่องตี
  4. เครื่องเป่า

ใกล้เคียงกับลักษณะ เครื่องดนตรี อินเดียตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ "สังคีตรัตนากร" ของอินเดีย ซึ่งจำแนกเป็น 4 ประเภท เช่นกันคือ
  1. ตะตะ คือ เครื่องดนตรี ประเภทมีสาย
  2. สุษิระ คือ เครื่องเป่า
  3. อะวะนัทธะ หรือ อาตตะ คือ เครื่องหุ้มหนัง หรือ กลอง ต่าง ๆ
  4. ฆะนะ คือ เครื่องตี หรือ เครื่องกระทบ
การสันนิษฐานเกี่ยวกับ กำเนิดหรือที่มาของ ดนตรีไทย ตามแนวทัศนะข้อนี้ เป็นทัศนะที่มีมาแต่เดิม นับตั้งแต่ ได้มีผู้สนใจ และ ได้ทำการค้นคว้าหาหลักฐาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น และนับว่า เป็นทัศนะที่ได้รับการนำมากล่าวอ้างกันมาก บุคคลสำคัญที่เป็นผู้เสนอแนะแนวทางนี้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวงการประวัติศาสตร์ของไทย

ทัศนะคติที่ 2 สันนิษฐานว่า ดนตรีไทย เกิดจากความคิด และ สติปัญญา ของคนไทย เกิดขึ้นมาพร้อมกับคนไทย ตั้งแต่ สมัยที่ยังอยู่ทางตอนใต้ ของประเทศจีนแล้ว
ทั้งนี้เนื่องจาก ดนตรี เป็นมรดกของมนุษยชาติ ทุกชาติทุกภาษาต่างก็มี ดนตรี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของตนด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าในภายหลัง จะมีการรับเอาแบบอย่าง ดนตรี ของต่างชาติเข้ามาก็ตาม แต่ก็เป็น การนำเข้ามาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม กับ ลักษณะและนิสัยทางดนตรี ของคนในชาตินั้น ๆ
ประเทศไทยเมื่อสมัยที่ยังอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ก็คงจะมีวัฒนธรรมทางดนตรี เกิดขึ้นแล้ว โดยสามารถสังเกตเห็นได้ว่า เครื่องดนตรี ดั้งเดิมของไทย จะมีชื่อเรียกเป็นคำโดด ซึ่งเป็นลักษณะของคำไทยแท้ เช่น
  • เกราะ, โกร่ง, กรับ
  • ฉาบ, ฉิ่ง
  • ปี่, ขลุ่ย
  • ฆ้อง, กลอง .. เป็นต้น
ต่อมาเมื่อไทยได้ อพยพ ลงมาตั้งถิ่นฐานในแถบแหลมอินโดจีน จึงได้มาพบวัฒนธรรมแบบอินเดีย โดยเฉพาะ เครื่องดนตรี อินเดีย ซึ่งชนชาติมอญ และ เขมร รับไว้ก่อนที่ไทยจะอพยพเข้ามา ด้วยเหตุนี้ ชนชาติไทย ซึ่งมีนิสัยทางดนตรีอยู่แล้ว จึงรับเอาวัฒนธรรมทางดนตรีแบบอินเดีย ผสมกับแบบมอญและเขมร เข้ามาผสมกับดนตรีที่มีมาแต่เดิมของตน จึงเกิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่
  • พิณ
  • สังข์
  • ปี่ไฉน
  • บัณเฑาะว์
  • กระจับปี่ และจะเข้ เป็นต้น
ต่อมาเมื่อไทยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมอินโดจีนอย่างมั่นคงแล้ว ได้มีการ ติดต่อสัมพันธ์ กับประเทศเพื่อนบ้านในแหลมอินโดจีน หรือแม้แต่กับประเทศทางตะวันตกบางประเทศที่เข้ามา ติดต่อค้าขาย ทำให้ไทยรับเอาเครื่องดนตรีบางอย่าง ของประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นมาใช้ เล่นใน วงดนตรีไทย ด้วย เช่น กลองแขก ปี่ชวา ของชวา (อินโดนิเซีย) กลองมลายู ของมลายู (มาเลเซีย) เปิงมาง ตะโพนมอญ ปี่มอญ และฆ้องมอญ ของมอญ กลองยาวของพม่า ขิม ม้าล่อของจีน กลองมริกัน (กลองของชาวอเมริกัน) เปียโน ออร์แกน และ ไวโอลีน ของประเทศทางตะวันตก เป็นต้น


อ้างอิง :

สารานุกรมไทย วิกิพิเดีย
สารานุไทยสำหรับเยาวชน เล่ม๑
วัฒนธรรมและประเพณีไทย บ้านจอมยุทธ
บอร์ดยิ้มสยาม หัวข้อ ประวัติดนตรีไทย(หมวดสาระ)
ประวัติดนตรีไทยโรงเรียนคูซอดประชาสรรค์