วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ดนตรีไทย(เพิ่มเติม)

ลักษณะการประสานเสียงของดนตรีไทย

ลักษณะการประสานเสียงของดนตรีไทยตามแบบโบราณนั้น ใช้หลัก อาศัยสีเสียง (Tone color) ของเครื่องดนตรีเป็นเครื่องแยกแต่ละแนวทำนอง คือให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นประสานเสียงกันแบบแนวนอน คือให้เสียงลูกตกตรงกัน มากกว่าประสานแบบแนวตั้งที่อาศัยคอร์ด (chord) เป็นพื้นฐานหลักตามแบบสากล
และเสียงของเครื่องดนตรี ที่จะบรรเลงเป็นทำนองนั้น จะต้องมีเสียงสูงต่ำเรียงลำดับกันหลาย ๆ เสียง โดยปกติก็มีอยู่ 7 เสียง เมื่อถึงเสียงที่ 8 ก็ถือว่าเป็นเสียงซ้ำกับเสียงที่ 1(เรียกว่า คู่ 8) และซ้ำต่อ ๆ ไปตามลำดับ แต่ระยะความห่างจา ก เสียงหนึ่งไปอีกเสียงหนึ่งนั้น ดนตรีของแต่ละชาติมักจะนิยมแบ่งระยะไม่เหมือนกัน ส่วนการแบ่งระยะเสียงเรียงลำดับของ ดนตรีไทยนั้น แบ่งความห่างของเสียงเท่า ๆ กันทั้ง 7 เสียงจากเสียงที่ 1 ไปเสียงที่ 2 จากเสียงที่ 2 ไปเสียงที่ 3 จาก3 ไป 4 จาก 4 ไป 5 จาก 5 ไป 6 จาก 6 ไป 7 และ จาก 7 ไป 8 ทุก ๆ ระยะ เท่ากันหมด
ลีลาเป็นแบบเฉพาะตัว หมายถึงท่วงท่าหรือท่วงทำนองที่เครื่องดนตรีต่างๆได้บรรเลงออกมา ในแต่ละเครื่องที่เล่นเป็นเพลงออกมา บ่งบอกถึงคุณลักษณะและพื้นฐานอารมณ์ที่จากตัวผู้เล่น เนื่องมาจากลีลาหนทางของดนตรีไทยนั้นไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์ไว้ตายตัวเหมือนกับดนตรีตะวันตก หากแต่มาจากลีลาซึ่งผู้บรรเลงคิดแต่งออกมาในขณะเล่น เพราะฉะนั้นในการบรรเลงแต่ละครั้งจึงอาจมีทำนองไม่ซ้ำกัน แต่ยังมี ความไพเราะและความสอดคล้องกับเครื่องดนตรีอื่นๆอยู่

ลักษณะเช่นนี้ได้อิทธิพลมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มี"กฎเกณฑ์" อยู่ที่การวาง "กลอน" ลงไปใน "ทำนองหลัก" ในที่นี้ หมายถึงในเพลงไทยเดิมนั้นเริ่มต้นด้วย "เนื้อเพลงแท้ๆ" อันหมายถึง "เสียงลูกตก" ก่อนที่จะปรับปรุงขึ้นเป็น "ทำนองหลัก" หรือที่เรียกว่า "เนื้อฆ้อง" อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในชั้นเนื้อฆ้องนี้ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นทำนองห่างๆ ยังไม่มีความซับซ้อนมาก แต่ยังกำหนดลักษณะในการเล่นไว้ให้ผู้บรรเลงแต่ละคนได้บรรเลงด้วยลีลาเฉพาะของตนในกรอบนั้นๆ โดยลีลาที่กล่าวมาก็หมายถึง "กลอน" หรือ "หนทาง" ต่างๆที่บรรเลงไปนั่นเอง
เพลงดนตรีของไทยนั้น มีทำนองต่าง ๆ เพลงบางชนิดก็มีทำนองพื้น ๆ เรียบ ๆ ไม่มีพลิกแพลงอย่างใด เรียกว่า "เพลงพื้น " บางชนิดก็เดินทำนองเป็นเสียงยาว ๆ เพลงชนิด นี้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีก็จะต้องตีกรอทำให้เสียงยาวจึงเรียกว่า " เพลงกรอ" และเพลงบางชนิดก็มีทำนองพลิกแพลงโลดโผน มีแบ่งเครื่องดนตรีเป็นพวก ผลัดกันหยุด ผลัดกันบรรเลง ก็เรียกว่า " เพลงลูกล้อลูกขัด" ถ้าจะแบ่งตามลักษณะของเพลง

การบรรเลงดนตรีไทยนั้น ผู้บรรเลงต้องจำทำนองเนื้อเพลงได้อย่างแม่นยำอย่างหนึ่ง รู้วิธีบรรเลงและหน้าที่ของ เครื่องดนตรีที่ตนบรรเลง เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้มว่ามีอย่างไร และมีสติปัญญาแต่งทำนองให้เกิดความไพเราะอีกอย่างหนึ่งเพราะการ บรรเลงดนตรีไทยไม่ได้ดูโน๊ต จึงต้องใช้ความจำ ในขณะที่บรรเลง ผู้บรรเลงจะต้องแต่งทำนองด้วยปัญญาของตน ให้ดำเนินไปตาม วิธีการบรรเลงเครื่องดนตรีที่ตนบรรเลง เช่น ระนาดเอก ก็ต้องเก็บถี่ ๆ ตีเป็นคู่ 8 พร้อม ๆ กันทั้งสองมือ และต้องไม่ให้ผิด ไปจากเนื้อเพลงของเพลงนั้นด้วย


การผสมวง

ผสมวงคือ การเอาเครื่องดนตรีหลาย ๆ อย่างมาบรรเลงรวมกัน แต่การที่จะนำเอาเครื่องดนตรีคนละอย่างมาบรรเลงพร้อม ๆ กันนี้ จะต้องพิจารณาเลือกแต่สิ่งที่มีเสียงกลมกลืนกันและไม่ดังกลบเสียงกัน สมัยโบราณนั้นเครื่องดีดก็จะผสมแต่ กับเครื่องสี เพราะมีเสียงที่ค่อนข้างเบาด้วยกัน และเครื่องตีก็จะผสมแต่เฉพาะกับเครื่องเป่าเท่านั้น เพราะมีเสียงค่อน ข้าง ดังมากด้วยกันภายหลังเมื่อรู้จักวิธีสร้างหรือแก้ไขเครื่องตีและเครื่องเป่าให้ลดความดังลงได้พอเสมอกับเครื่อง ดีดเครื่องสี จึงได้นำเครื่องตีและเครื่องเป่าเหล่านั้นบางอย่างเข้าผสมเฉพาะแต่ที่ต้องการและจำเป็นและเลือกดูว่า เครื่องดนตรีอย่างไหนทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ได้หลายเสียง ก็ให้บรรเลงเป็นทำนองอย่างไหนทำเสียงสูงต่ำหลาย ๆ เสียงไม่ได้ ก็ให้ เป็นพวกบรรเลงประกอบจังหวะ

วงดนตรีไทย
ดนตรีไทยมักเล่นเป็นวงดนตรี มีการแบ่งตามประเภทของการบรรเลงที่เป็นระเบียบมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันเป็น 3 ประเภท คือ
วงปี่พาทย์
ประกอบด้วยเครื่องตีเป็นสำคัญ เช่น ฆ้อง กลอง และมีเครื่องเป่าเป็นประธานได้แก่ ปี่ นอกจากนั้นเป็นเครื่อง วงปี่พาทย์ยังแบ่งไปได้อีกคือ วงปี่พาทย์ชาตรี,วงปี่พาทย์ไม้แข็ง,วงปี่พาทย์เครื่องห้า,วงปี่พาทย์เครื่องคู่,วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่,วงปี่พาทย์ไม้นวม,วงปี่พาทย์มอญ,วงปี่พาทย์นางหงส์

วงเครื่องสาย
เครื่องสาย ได้แก่ เครื่องดนตรี ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่มีสายเป็นประธาน มีเครื่องเป่า และเครื่องตี เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ เป็นต้น ปัจจุบันวงเครื่องสายมี 4 แบบ คือ วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว,วงเครื่องสายเครื่องคู่,วงเครื่องสายผสม,วงเครื่องสายปี่ชวา

วงมโหรี
ในสมัยโบราณเป็นคำเรียกการบรรเลงโดยทั่วไป เช่น "มโหรีเครื่องสาย" "มโหรีปี่พาทย์" ในปัจจุบัน มโหรี ใช้เป็นชื่อเรียกเฉพาะวงบรรเลงอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีเครื่อง ดีด สี ตี เป่า มาบรรเลงรวมกันหมด ฉะนั้นวงมโหรีก็คือวงเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ ผสมกัน วงมโหรีแบ่งเป็น วงมโหรีเครื่องสี่,วงมโหรีเครื่องหก,วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ มโหรีเครื่องเล็ก,วงมโหรีเครื่องคู่

เครื่องดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทยแบ่งตามลักษณะการทำให้เกิดเสียงได้เป็น 4 ประเภท คือ ดีด สี ตี เป่า

เครื่องดีด
  1. จะเข้
  2. กระจับปี่
  3. เต้า
  4. พิณ
  5. ซึง
  6. ไทยหัว
  7. กวาง
เครื่องสี
  1. ซอด้วง
  2. ซอสามสาย
  3. ซออู้
  4. สะล้อ

ครื่องตี
  • กรับ ได้แก่ กรับพวง และ กรับเสภา
  • ระนาด ได้แก่ ระนาดเอก,ระนาดทุ้ม,ระนาดเอกมโหรี,ระนาดทุ้มมโหรี,ระนาดเอกเหล็ก,ระนาดทุ้มเหล็ก
  • ฆ้อง ได้แก่ ฆ้องมโหรี,ฆ้องมอญ,ฆ้องวงใหญ่ ,ฆ้องวงเล็ก,ฆ้องโหม่ง,ฆ้องกระแต,ฆ้องระเบ็ง
  • ขิม
  • ฉาบ
  • ฉิ่ง
  • กลอง ได้แก่ กลองแขก,กลองมลายู,ตะโพน,ตะโพนมอญ,กลองทัด,กลองตุ๊ก,กลองยาว,มโหระทึก,บัณเฑาะว์,โทน,รำมะนา,โทนชาตรี,กลองสองหน้า,เปิงมางคอก

เครื่องเป่า
  • ขลุ่ย ได้แก่ ขลุ่ยหลิบ,ขลุ่ยเพียงออ,ขลุ่ยอู้
  • ปี่ ได้แก่ ปี่ใน,ปี่นอก,ปี่ไฉน,ปี่ชวา,ปี่มอญ

เพลงดนตรีไทย
แบ่งได้เป็น 4 แบบคือ

เพลงหน้าพาทย์ ได้แก่ เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งของมนุษย์ ของสัตว์ ของวัตถุต่าง ๆ และอื่น ๆ

เพลงรับร้อง ที่เรียกว่าเพลงรับร้องก็ด้วยบรรเลงรับจากการร้อง คือ เมื่อคนร้องได้ร้องจบไปแล้วแต่ละท่อน ดนตรีก็ต้องบรรเลงรับในท่อนนั้น ๆ โดยมากมักเป็นเพลงอัตรา 3 ชั้นและเพลงเถา เช่น เพลงจระเข้หางยาว 3 ชั้น เพลงสี่บท 3 ชั้น และเพลงบุหลันเถา เป็นต้น

เพลงละคร หมายถึงเพลงที่บรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร และมหรสพต่าง ๆ ซึ่งหมายเฉพาะเพลงที่มีรัองและดนตรีรับเท่า นั้น เพลงละครได้แก่เพลงอัตรา 2 ชั้น เช่น เพลงเวสสุกรรม เพลงพญาโศก หรือชั้นเดียว เช่น เพลงนาคราช เพลงตะลุ่มโปง เป็นต้น
๔เพลงเบ็ดเตล็ด ได้แก่ เพลงเล็ก ๆ สั้น ๆ สำหรับใช้บรรเลงเป็นพิเศษ เช่น บรรเลงต่อท้ายเพลงใหญ่เป็นเพลงลูกบท หรือเพลงภาษา ต่าง ๆ ซึ่งบรรเลงเพื่อสนุกสนาน

การฟังเพลงไทย
วงดนตรีแต่ละอย่าง ย่อมมีวิธีบรรเลงและเสียงของเครื่องดนตรีต่างกัน จึงต้องรู้จักวงดนตรีที่ฟังนั้นเสียก่อน วงปี่พาทย์ที่ตีด้วยไม้แข็ง ก็ย่อมมีเสียงแกร่งกร้าว มักบรรเลงค่อนข้างเร็ว และโลดโผน วงปี่พาทย์ไม้นวม การบรรเลง ก็จะต้องค่อนข้างช้า ไพเราะในทางนุ่มนวล วงมโหรีจะต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนวงเครื่องสาย อาจมีได้ทั้งรุกเร้า รวดเร็ว และไพเราะนุ่มนวล เมื่อรู้เช่นนี้ ขณะฟังวงอะไรบรรเลงก็ฟังโดยทำใจให้เป็นไปตามลักษณะของวงชนิดนั้น

การฟังเพลง สิ่งสำคัญก็อยู่ที่ทำนอง เครื่องดนตรีที่บรรเลงทุก ๆ อย่างย่อมมีทำนองของตัวจะต้องฟังดูว่าเครื่อง ดนตรีทุก ๆ อย่างนั้น ดำเนินทำนองสอดคล้องกลมเกลียวกันดีหรือไม่ และต่างทำถูกตามหน้าที่ หรือไม่ เช่น ซออู้ทำหน้า ที่ หยอกล้อยั่วเย้าหรือเปล่า หรือฆ้องวงเล็ก ตีสอดแทรกทางเสียงสูงดีหรือไม่ เป็นต้น เมื่อสังเกตการบรรเลงอย่างนั้นแล้วจึง ทำอารมณ์ให้เป็นไปตามอารมณ์ของเพลง เพราะทำนองเพลงย่อมแสดงอารมณ์โศกรัก รื่นเริง หรือขับกล่อมให้เพลิดเพลิน เพลงอารมณ์โศก และรักมักจะมีจังหวะช้า ๆ และเสียงยาว เพลงรื่นเริง มักจะมีจังหวะค่อนข้างเร็ว และเสียงสั้น ส่วนเพลงขับกล่อม ก็มั ก จะเป็นพื้น ๆ เรียบ ๆ สม่ำเสมอ ทั้งนี้จะต้องสังเกตด้วยเสียงของทำนองที่มาสู่อารมณ์เราด้วย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อฟัง เพลงในอารมณ์ใด ก็ตั้งใจฟังไปในอารมณ์นั้น ก็จะได้รสไพเราจากการฟังได้อย่างแท้จริง

การบรรเลงดนตรีไทยในวาระต่างๆ

การที่จะมี่ดนตรีบรรเลงประกอบในงาน ที่จะจัดให้มีขึ้นนั้น ก็ควรจะยึดถือแบบแผนที่สมัยโบราณได้เคย ใช้กันมาจนเป็นประเพณีไปแล้ว คือ
งานที่มีพระสงฆ์สวดมนต์และฉันอาหาร ควรใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ก็แล้วแต่เห็นสมควร
งานแต่งงาน หรือที่เรียกกันว่างานมงคลสมรส ควรใช้วงมโหรีหรือวงเครื่องสาย
งานศพ ถ้าจะใช้ดนตรีไทย ควรใช้วงปี่พาทย์นางหงส์
งานพิเศษที่จัดขึ้นเฉพาะครั้งคราว เช่น ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ประกอบกิจการสามารถใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม หรือ มโหรี หรือเครื่องสาย ก็ได้ แล้วแต่ความพึงพอใจ

อ้างอิง :
สารานุกรมไทย วิกิพิเดีย
สารานุไทยสำหรับเยาวชน เล่ม๑
วัฒนธรรมและประเพณีไทย บ้านจอมยุทธ
บอร์ดยิ้มสยาม หัวข้อ ประวัติดนตรีไทย(หมวดสาระ)
ประวัติดนตรีไทยโรงเรียนคูซอดประชาสรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น