สมัยบาโรก Baroque
มาจากคำว่า “Barroco” ในภาษาโปรตุเกสซึ่งหมายถึง “ ไข่มุกที่มีสัณฐานเบี้ยว” (Irregularly shaped pearl) Jacob Burckhardt เป็นคนแรกที่ใช้คำนี้เรียกสไตล์ของงานสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เต็มไปด้วยการตกแต่งประดับประดาและให้ความรู้สึกอ่อนไหว
ส่วนทางด้านดนตรี ได้มีผู้นำคำนี้มาใช้เรียกสมัยของดนตรีที่เกิดขึ้นในยุโรป เริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 และมาสิ้นสุดลงราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นเวลาร่วม 150 ปี เนื่องจากสมัยบาโรกเป็นสมัยที่ยาวนานรูปแบบของเพลงจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา อย่างไรก็ตามรูปแบบของเพลงที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเด่นที่สุดของดนตรี
บาโรกได้ปรากฏในบทประพันธ์ของ เจ. เอส. บาคและยอร์ช ฟริเดริค เฮนเดล ซึ่งคีตกวีทั้งสองนี้ได้แต่งขึ้นในช่วงเวลาครึ่งแรกของศตวรรษที่ 18 ในตอนต้นสมัยบาโรกคีตกวีส่วนมากได้เลิกนิยมสไตล์โพลี่โฟนี (Polyphony) ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งแนวขับร้องแต่ละแนวในบทเพลงต่างมีความสำคัญทัดเทียมกันและหันมาสนใจสไตล์โมโนดี (Monody) ซึ่งในบทเพลงจะมีแนวขับร้องเพียงแนวเดียวดำเนินทำนอง และมีแนวสำคัญที่เรียกในภาษาอิตาเลี่ยนว่า “ เบสโซคอนตินิวโอ (Basso Continuo)” ทำหน้าที่เสียงคลอเคลื่อนที่ตลอดเวลาประกอบ ทำให้เกิดคอร์ดขึ้นมา อย่างไรก็ตามคีตกวีรุ่นต่อมาก็มิได้เลิกสไตล์โฟลี่โฟนีเสียเลยทีเดียว หากยังให้ไปปรากฏในดนตรีคีย์บอร์ดในแบบแผนของฟิวก์ (Fugue) ออร์แกนโคราล (Organchorale) ตลอดจนทอคคาตา (Toccata) ซึ่งแต่งโดยใช้เทคนิค เคาน์เตอร์พอยท์ (Counterpoint)
ในสมัยบาโรก ดนตรีศาสนาในแบบแผนต่าง ๆ เช่น ออราทอริโอ แมส พาสชัน คันตาตา ในศาสนา (Church Cantata) คีตกวีก็นิยมแต่งกันไว้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ แมสใน บี ไมเนอร์” ของ เจ. เอส. บาค และออราทอริโอ เรื่อง “The Messiah” ของเฮนเดล จัดได้ว่าเป็นดนตรีศาสนาที่เด่นที่สุดของสมัยนี้
ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของดนตรีสมัยบาโรก คือ
- การทำให้เกิด “ ความตัดกัน” (Contrasting) เช่น ในด้าน ความเร็ว – ความช้า ความดัง – ความค่อย การบรรเลงเดี่ยว – การบรรเลงร่วมกัน วิธีเหล่านี้พบในงานประเภท ตริโอโซนาตา (Trio Sonata) คอนแชร์โต กรอซโซ (Concerto Grosso) ซิมโฟเนีย (Simphonia) และคันตาตา (Cantata)
- ตลอดสมัยนี้คีตกวีมิได้เขียนบทบรรเลงส่วนใหญ่ของเขาขึ้นอย่างครบบริบูรณ์ ทั้งนี้เพราะเขาต้องการให้ผู้บรรเลงมีโอกาสแสดงความสามารถการเล่นโดยอาศัยคีตปฏิภาณหรือการด้นสด (Improvisation) และการประดิษฐ์เม็ดพราย (Ornamentation) ในแนวของตนเอง
- การบันทึกตัวโน้ตได้รับการพัฒนามาจนเป็นลักษณะการบันทึกตัวโน้ตที่ใช้ในปัจจุบัน คือการใช้บรรทัด 5 เส้น การใช้กุญแจซอล (G Clef) กุญแจฟา (F Clef) กุญแจอัลโต และกุญแจเทเนอร์ (C Clef) มีการใช้สัญลักษณ์ตัวโน้ตและตัวหยุดแทนความยาวของจังหวะและตำแหน่งของตัวโน้ตบรรทัด 5 เส้น แทนระดับเสียงและยังมีตัวเลขบอกอัตราจังหวะมีเส้นกั้นห้องและสัญลักษณ์อื่น ๆ เพื่อใช้บันทึกลักษณะของเสียงดนตรี
- กุญแจซอล
- กุญแจฟา
- กุญแจโด อัลโต
- กุญแจโด เทเนอร์
- โน้ตสากลต่างๆ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที
- เครื่องหมายกำหนดจังหวะ
ลักษณะทั่วไปของดนตรีสมัยบาโรก สามารถสรุปกว้าง ๆ ได้ดังนี้
- เริ่มนิยมใช้สื่อที่ต่างกันตอบโต้กัน เช่น เสียงนักร้องกับเครื่องดนตรี การบรรเลงเดี่ยวตอบโต้กับการบรรเลงเป็นกลุ่ม
- นิยมใช้เบสเป็นทั้งทำนองและแนวประสาน เรียกว่า Basso Continuo และมีวิธีบันทึกเรียกว่า Figured bass
- เริ่มมีการประสานเสียงแบบ Homophony ซึ่งเป็นการประสานเสียงแบบอิงคอร์ด และหลายแนวหนุนแนวเดียวให้เด่น
- นิยมใช้บันไดเสียงเมเจอร์ (Major) และไมเนอร์ (Minor) แทนโมด (Mode)
- เคาน์เตอร์พอยท์ (Counterpoint) ยังคงเป็นคุณลักษณะเด่นของสมัยนี้อยู่ โฮโมโฟนี(Homophony) มีบทบาทหนุนส่งให้ เคาน์เตอร์พอยท์ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- มีการระบุความเร็ว – ช้า และหนัก – เบา ลงไปในผลงานบ้าง เช่น adagio, andante และ allegro เป็นต้น
- เทคนิคของการ Improvisation ได้รับความนิยมสูงสุด
- มีคีตลักษณ์ (Form) ใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายแบบ
- มีการจำแนกหมวดหมู่ของคีตนิพนธ์ และบัญญัติศัพท์ไว้เรียกชัดเจน
- อุปรากร (Opera) ได้กำเนิดและพัฒนาขึ้นในสมัยนี้
อ้างอิง :
โรงเรียนลำปางกัลยาณี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น