วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ดนตรีสากล(ประวัติศาตร์ดนตรีสากล5)

สมัยรีเนซองส์ Renaissance

คำว่า “Renaissance” แปลว่า “ การเกิดใหม่” (Re-birth) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ปัญญาชนในยุโรปได้หันความสนใจจากกิจการฝ่ายศาสนาที่ได้ปฏิบัติมาอย่างเคร่งครัดตลอดสมัยกลาง มาสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งมีแนวความคิดและวัฒนธรรมตามแบบกรีก และโรมันโบราณ สมัยแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยานี้ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกตามหัวเมืองภาคเหนือของแหลมอิตาลี แล้วจึงแพร่ไปยังเวนิชปิสา เจนัว จนทั่วแคว้นทัสคานีและลอมบาร์ดี จากนั้นจึงแพร่ไปทั่วแหลมอิตาลีแล้วขยายตัวเข้าไปในฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ลักษณะของดนตรีในสมัยนี้ยังคงมีรูปแบบคล้ายในสมัยศิลป์ใหม่ แต่ได้มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบมากขึ้น

ลักษณะการสอดประสานทำนอง ยังคงเป็นลักษณะเด่น เพลงร้องยังคงนิยมกัน แต่เพลงบรรเลงเริ่มมี บทบาทมากขึ้น ในช่วงศตวรรษที่ 15 และ 16 รูปแบบของดนตรีมีความแตกต่างกันดังนี้

1. สมัยศตวรรษที่ 15 ได้เปลี่ยนการปกครองจากการปกครองระบอบศักดินา (Feudalism) เป็นระบอบมนุษยนิยม (Humanism) ซึ่งกลายเป็นลัทธิสำคัญทางปรัชญา ศิลปินผู้มีชื่อเสียง คือ ลอเร็นโซ กิแบร์ตี โดนาเต็ลโล เลโอนาร์โด ดา วินชิ ฯลฯ เพลงมักจะมี 3 แนว โดยแนวบนสุดจะมีลักษณะน่าสนใจกว่าแนวอื่น ๆ เพลงที่ประกอบด้วยเสียง 4 แนว ในลักษณะของโซปราโน อัลโต เทเนอร์ เบส เริ่มนิยมประพันธ์กันซึ่งเป็นรากฐานของการประสานเสียง 4 แนว ในสมัยต่อ ๆ มา เพลงโบสถ์จำพวกแมสซึ่งพัฒนามาจากแชนท์มีการประพันธ์กันเช่นเดียวกับในสมัยกลาง เพลงโมเต็ตยังมีรูปแบบคล้ายสมัยศิลป์ใหม่ ในระยะนี้เพลงคฤหัสถ์เริ่มมีการสอดประสานเกิดขึ้น คือ เพลงประเภท ซังซอง แบบสอดประสาน (Polyphonic chanson) ซึ่งมีแนวทำนองเด่น 1 แนว และมีแนวอื่นสอดประสานแบบล้อกัน (Imitative style) ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลักษณะของการใส่เสียงประสาน(Homophony) ลักษณะล้อกันแบบนี้เป็นลักษณะสำคัญของเพลงในสมัยนี้ นอกจากนี้มีการนำรูปแบบของโมเต็ตมาประพันธ์เป็นเพลงแมสและการนำหลักของแคนนอนมาใช้ในเพลงแมสด้วย

2. สมัยศตวรรษที่ 16 มนุษยนิยมยังคงเป็นลัทธิสำคัญทางปรัชญา การปฏิรูปทางศาสนาและการต่อต้านการปฏิรูปทางศาสนาของพวกคาทอลิกเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งของคริสต์ศาสนาเพลงร้อง แบบสอดประสานทำนองพัฒนาจนมีความสมบูรณ์แบบเพลงร้องยังคงเป็นลักษณะเด่น แต่เพลงบรรเลงก็เริ่มนิยมกันมากขึ้น เพลงโบสถ์ยังมีอิทธิพลจากเพลงโบสถ์ของโรมัน แต่ก็มีเพลงโบสถ์ของนิกายโปรแตสแตนท์เกิดขึ้น การประสานเสียงเริ่มมีหลักเกณฑ์มากขึ้น การใช้การประสานเสียงสลับกับการล้อกันของทำนองเป็นลักษณะหนึ่งของเพลงในสมัยนี้ การแต่งเพลงแมสและโมเต็ต นำหลักของการล้อกันของทำนองมาใช้แต่เป็นแบบฟิวก์ (Fugue) ซึ่งพัฒนามาจากแคนนอน คือ การล้อของทำนองที่มีการแบ่งเป็นส่วน ๆ ที่สลับซับซ้อนมีหลักเกณฑ์มากขึ้นในสมัยนี้มีการปฏิวัติทางดนตรีเกิดขึ้นในเยอรมัน ซึ่งเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางศาสนากับพวกโรมันแคธอลิก จึงมีการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่โดยใช้กฏเกณฑ์ใหม่ด้วยเพลงที่เกิดขึ้นมาใหม่เป็นเพลงสวดที่เรียกว่า “ โคราล” (Chorale) ซึ่งเป็นเพลงที่นำมาจากแชนท์แต่ใส่อัตราจังหวะเข้าไป

นอกจากนี้ยังเป็นเพลงที่นำมาจากเพลงคฤหัสถ์โดย ใส่เนื้อเป็นเรื่องศาสนาและเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ด้วย เพลงในสมัยนี้เริ่มมีอัตราจังหวะแน่นอน เพลงคฤหัสถ์มีการพัฒนาทั้งใช้ผู้ร้องและการบรรเลง กล่าวได้ว่าดนตรีในศตวรรษนี้มีรูปแบบ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นและหลักการต่าง ๆ มีแบบแผนมากขึ้น เห็นความสำคัญของดนตรีมากขึ้น โดยถือว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

นอกจากจะให้ดนตรีในศาสนาสืบเนื่องมาจากสมัยกลาง (Middle Ages) แล้วยังต้องการดนตรีของคฤหัสถ์ (Secular Music) เพื่อพักผ่อนในยามว่าง เพราะฉะนั้นในสมัยนี้ดนตรีของคฤหัสถ์ (Secular Music) และดนตรีศาสนา (Sacred Music)จึงมีความสำคัญเท่ากัน

สรุปลักษณะบทเพลงในสมัยนี้

  1. บทร้องใช้โพลีโฟนี (Polyphony) ส่วนใหญ่ใช้ 3-4 แนว ในศตวรรษที่ 16 ได้ชื่อว่า “The Golden Age of Polyphony”
  2. มีการพัฒนา Rhythm ในแบบ Duple time และ Triple time ขึ้น
  3. การประสานเสียงใช้คู่ 3 ตลอด และเป็นสมัยสุดท้ายที่มีรูปแบบของขับร้องและบรรเลงเหมือนกัน

เครื่องดนตรีที่ใช้
เครื่องสายที่บรรเลงด้วยการใช้คันชัก ได้แก่
  • ซอวิโอล (Viols) ขนาดต่าง ๆ
  • ซอรีเบค (Rebec) ซึ่งตัวซอมีทรวดทรงคล้ายลูกแพร์เป็นเครื่องสายที่ใช้คันชัก

เครื่องเป่า ได้แก่
  • ลูท เวอร์จินัล
  • คลาวิคอร์ด
  • ขลุ่ยรีคอร์เดอร์
  • ปี่ชอม
  • ปี่คอร์เน็ต
  • แตรทรัมเปต และแตรทรอมโบน
อ้างอิง :

โรงเรียนลำปางกัลยาณี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น